อำเภอ ท่าปลา
ท่าปลา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งอารยธรรมและอดีตดินแดนล้านนาตะวันออก มีพื้นที่ 1,681.445 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1,050,625 ไร่) ลักษณะส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่อยู่ระหว่างเนินเขาและภูเขา มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์อยู่ตอนกลางเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ 284.8 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออยู่ในการดูแลของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนน้อยมาก
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอท่าปลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ (จังหวัดแพร่) และอำเภอนาหมื่น (จังหวัดน่าน)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด อำเภอทองแสนขัน และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่)
ประวัติ
ชื่อเดิมเรียกว่า "ทับป่า" ขึ้นอยู่กับเมืองน่านในสมัยที่เมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครองนครน่านเมื่อประมาณร้อยปีเศษ โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์
ตามตำนาน เคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึก เชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงจะนำหินไปสกัดและ เรียกบริเวณนี้ว่า "บ่อแก้วตาปลา" ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "แก้วท่าปลา" และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า "บ้านท่าปลา" ซึ่งเป็นคำเมืองหมายถึงรอปลาขึ้นและจับปลานั่นเอง
อำเภอท่าปลาเป็นอำเภอที่มีความอุดมสมบูรณ์ไม่แพ้อำเภอใด ๆ มีแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมื่อโอนมาเป็นเขตการปกครองของจังหวัดอุตรดิตถ์ ประชาชนมีความ เป็นอยู่ที่สุขสบายอยากจะกินปลาก็หาปลาได้ที่แม่น้ำ ซึ่งมีปลามากมายหลายพันธุ์ อยากกินอาหารป่าก็เข้าป่าล่าสัตว์ซึ่งมีอย่างชุกชุมในป่า เป็นแหล่งที่มีไม้ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย เช่น ไม้สักซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก จะเห็นได้ว่าในอดีต ประชาชนบางหมู่บ้านบางตำบลประกอบอาชีพทำไม้ และเมื่อปี พ.ศ. 2513 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทานได้เปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านและก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ พื้นที่อำเภอบางส่วนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ราษฎรต้องอพยพออกมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่บนพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน กรมประชาสงเคราะห์ ที่ว่าการอำเภอท่าปลาซึ่งเดิมตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 3 ตำบลท่าปลา ถูกผลกระทบจากการก่อสร้างตามโครงการฯ จึงได้ปรับย้ายมาตั้งที่ทำการแห่งใหม่อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านอยู่จนทุกวันนี้
ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองระหว่างอำเภอท่าปลากับอำเภอน้ำปาด โดยโอนตำบลท่าแฝกไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาด เนื่องจากราษฎรตำบลท่าแฝก (ซึ่งถูกอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ตัดขาดจากพื้นที่อื่นของอำเภอ) ได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการต่าง ๆ ที่ตัวอำเภอท่าปลาซึ่งอยู่ห่างออกไป 116 กิโลเมตร ถ้าย้ายไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาดซึ่งตัวอำเภอตั้งอยู่ระหว่างทางและมีระยะทางห่างเพียง 59 กิโลเมตร ราษฎรจะได้รับความสะดวกมากกว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน

แบ่งการปกครองออกเป็น 7 ตำบล คือ
ตำบล ท่าปลา
ตำบล จริม
ตำบล ร่วมจิต
ตำบล หาดล้า
ตำบล น้ำหมัน
ตำบล ผาเลือด
ตำบล นางพญา
สถานที่ท่องเที่ยว
- เขื่อนสิริกิติ์
- อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน
- อุทยานแห่งชาติศรีน่าน
- บ้านท่าเรือ
- น้ำตกวังชมภู
- น้ำตกทรายงาม
- ถ้ำแสนหาร