เดิมอำเภอธารโตอยู่ในการปกครองของตำบลแม่หวาด อำเภอบันนังสตา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งทัณฑสถานเพื่อกักขังนักโทษทางการเมืองและนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่จัดส่งมาจากทั่วประเทศ และเรียกทัณฑสถานแห่งนี้ว่า "นรกธารโต" ถือเป็นป่าทึบที่ชุกชมไปด้วยไข้ป่าหลบหนีได้ยากต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ยกเลิกทัณฑสถานแห่งนี้ใน พ.ศ. 2499 เพื่อให้กรมประชาสงเคราะห์จึงได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโตขึ้น และเปลี่ยนทัณฑสถานดังกล่าวเป็นโรงเรียนขึ้นในปี พ.ศ. 2500 ปัจจุบันยังมีร่องรอยของคุกปรากฏอยู่ เช่น โรงครัว, โซ่ตรวน และได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์คุกธารโต
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้มีการแยกเขตการปกครองออกจากอำเภอบันนังสตา จัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอธารโต ขึ้นกับอำเภอบันนังสตาก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอธารโต เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524
แต่เดิมชาวบ้านแต่เก่าก่อนเรียกบริเวณนี้ว่า ไอร์กือดง หรือ ไอร์เยอร์กระดง เป็นภาษามลายู คำว่า ไอร์ หรือ ไอร์เยอร์ แปลว่า "น้ำ" หรือ "ลำธารใหญ่" ส่วน กือดง หรือ กระดง มีสองความหมายคือ "บริเวณที่ลำน้ำหลายสายไหลมารวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่" หรือ "พืชมีพิษ" ซึ่งมีมากในแหล่งน้ำดังกล่าว
คำว่า ธารโต มาจากชื่อ เรือนจำกลางภาคธารโต เป็นชื่อที่ทางกรมราชทัณฑ์ตั้งขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศ สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เพราะมีลำธารขนาดใหญ่ไหลผ่าน
ประชาการส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมลายู ราวร้อยละ 60 และชาวไทยพุทธร้อยละ 40 ซึ่งรวมไปถึงชาวไทยเชื้อสายจีน, ชาวไทยจากภาคเหนือ, อีสาน และใต้ อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในเขตนิคมทั้งสามแห่ง ได้แก่ นิคมสร้างตนเองธารโต นิคมสร้างตนเองเบตง และนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ (นิคมกือลอง) มีมัสยิด 16 แห่ง มีวัดทั้งหมด 6 วัด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำสวนยางพารา สวนผลไม้ และทำประมงน้ำจืด
และที่นี่ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของเงาะป่าซาไก ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุล "ศรีธารโต" จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พวกยังดำรงชีวิตอย่างโบราณอยู่ แม้ว่าทางกรมประชาสงเคราะห์จะสร้างที่พักและที่ทำกินให้ แต่พวกเขาก็มิใคร่ใส่ใจ เพราะพวกเขาพอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างเดิมมากกว่า แต่ปัจจุบันพวกเขานิยมที่จะอาศัยในประเทศมาเลเซียตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อน และ 3 ปีที่ผ่านมาชาวซาไกที่เหลือก็เริ่มเข้าไปในมาเลเซียอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลด้านความไม่สงบ และข้อเสนอที่ดีของทางการมาเลเซียที่ให้ที่ทำกินที่ดีกว่าแก่พวกเขา
ชาวซาไกนับถือพุทธกับผี และบางส่วนในมาเลเซียนับถือศาสนาอิสลาม แต่เป็นเพียงในนามเท่านั้นเพื่อความมั่นคงของตนเอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอธารโตแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็น 4 ตำบล 37 หมู่บ้าน ได้แก่
|
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอธารโตประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลคอกช้าง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่หวาด
- องค์การบริหารส่วนตำบลธารโต ครอบคลุมพื้นที่ตำบลธารโตทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแหรทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่หวาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่หวาด (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลคอกช้าง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลคีรีเขต ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคีรีเขตทั้งตำบล
สถานที่ท่องเที่ยว
- น้ำตกธารโต มี 9 ชั้น ทุกชั้นมีทางเดินเท้าสามารถเดินชมความงามได้ตลอด บริเวณน้ำตกชั้นที่ 3-5 มีศาลาพักชมความงามของน้ำตกและผืนป่า ระยะทางจากชั้นที่ 1-9 ประมาณ 500 เมตร
- สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง ได้แก่ ทะเลสาบธารโตและเขื่อนบางลาง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบันนังสตา
