อำเภอศรีนคร
ประวัติ
ศรีนครมีอายุทางโบราณคดีสมัยยุคประวัติศาสตร์ตอนปลาย ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการตั้งชุมชนอยู่บริเวณเขาเขน เขากา ชุมชนบ้านบึงเหนือ เมื่อประมาณ 2,000-2,500 ปีล่วงมาแล้ว พื้นที่ดังกล่าวได้มีการส่งผ่านอารยธรรมของอินเดียซึ่งรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น
จากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งแสดงว่าพื้นที่ที่เป็นอำเภอศรีนครได้ดำรงอยู่อย่างสงบ ร่วมกาลสมัยท่ามกลางนครหรือเมืองที่เลื่องชื่ออันเป็นที่รู้จักทั่วไป เช่น กลุ่มเมืองโบราณ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองบางขลัง เมืองพิชัย เป็นต้น "ศรีนคร" แห่งนี้นั้นย่อมได้พ้นผ่านความรุ่งเรือง พานพบความล่มสลาย และแปรเปลี่ยนเวียนผันไปตามกาลสมัย จากนาม "นครเดิฐ" สู่นาม "คลองมะพลับ" และมาเป็นนาม "ศรีนคร" ในที่สุด
เดิมศรีนครเป็นเพียงหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลนครเดิฐซึ่งขึ้นตรงกับอำเภอสรรคโลก และต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ได้แบ่งพื้นที่ตำบลนครเดิฐตั้งเป็น ตำบลศรีนคร การขอตั้งอำเภอศรีนครเริ่มเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2519 โดยนายธวัช ชุนนะวรรณ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกำนันตำบลศรีนคร ได้ขอที่ดินนิคมสวรรคโลก 25 ไร่ จัดสร้างบริเวณที่ว่าการอำเภอศรีนครจำนวน 10 ไร่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีนครจำนวน 10 ไร่ และสถานที่ราชการอื่น ๆ อีกจำนวน 5 ไร่ อำเภอศรีนครได้แยกตัวออกจากอำเภอสวรรคโลก แต่แรกมีเพียง 2 ตำบล คือ ตำบลศรีนครและตำบลนครเดิฐ โดยมีลำดับการก่อตั้งดังนี้
- วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2519 ได้รับการยกฐานะเป็น กิ่งอำเภอศรีนคร
- วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ได้รับการยกฐานะเป็น อำเภอศรีนคร
จากคำบอกเล่าของนายธวัช ชุนนะวรรณ์ (อดีตนายกเทศมนตรีตำบลศรีนคร) ถึงที่มาของคำว่า "ศรีนคร" ว่าได้นำมาจากพยางค์แรกของคำว่า "นครเดิฐ" และเติมคำว่า "ศรี" เข้าไปข้างหน้าได้ชื่อใหม่ที่เป็นมงคล[1]
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอศรีนครตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอศรีสัชนาลัยและอำเภอตรอน (จังหวัดอุตรดิตถ์)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอตรอนและอำเภอพิชัย (จังหวัดอุตรดิตถ์)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสวรรคโลก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวรรคโลก




การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอศรีนครแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 49 หมู่บ้าน
1. | ศรีนคร | (Si Nakhon) | 10 หมู่บ้าน | |||||
2. | นครเดิฐ | (Nakhon Doet) | 11 หมู่บ้าน | |||||
3. | น้ำขุม | (Nam Khum) | 10 หมู่บ้าน | |||||
4. | คลองมะพลับ | (Khlong Maphlap) | 10 หมู่บ้าน | |||||
5. | หนองบัว | (Nong Bua) | 8 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอศรีนครประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลศรีนคร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลศรีนคร
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีนคร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีนคร (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลศรีนคร)
- องค์การบริหารส่วนตำบลนครเดิฐ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนครเดิฐทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำขุม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำขุมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองมะพลับ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองมะพลับทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวทั้งตำบล
การคมนาคม
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1180
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1255
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1318
- สถานีรถไฟคลองมะพลับ
- ท่าอากาศยานสุโขทัย ห่างกันประมาณ 22 กิโลเมตร
สถานที่สำคัญ
- วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม
- วัดปัจจันตคารามวาสี (หนองแหน)
- วัดจันวนาประชากร (ดงจันทร์)
- วัดบึงเจริญ
- วัดบึงงาม
- วัดน้ำขุม
- บึง ทะเลสาบ แหล่งน้ำ เขื่อน หนองขุดหล่ม