ประวัติความเป็นมา อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ
อำเภอเซกา
อำเภอเซกา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งแยกออกมาจากจังหวัดหนองคาย ตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเซกาตั้งอยู่ทางตอนใต้ค่อนไปทางตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า และอำเภอบึงโขงหลง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบึงโขงหลง
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอนาทม (จังหวัดนครพนม) อำเภออากาศอำนวย และอำเภอคำตากล้า (จังหวัดสกลนคร)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล
ที่มาของชื่ออำเภอ
ตำนานดั้งเดิมเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 ผู้เขียนไม่ปรากฏนามได้เขียนบนไม้ไผ่ไว้ว่ามี ทรายคำ (เนื้อทรายสีเหลืองทอง) ถูกนายพรานยิงบาดเจ็บวิ่งหนีโซเซมาจากบ้านพันห่าว ข้ามห้วยโด (เขตอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม) มาถึงบริเวณที่ราบลุ่มแห่งหนึ่งก็ไปไม่ไหว ล้มลงสิ้นชีพ ณ บริเวณแห่งนี้ บรรดาผู้คนที่ตามเนื้อทรายตัวนี้มา มาถึงก็ได้แล่เนื้อแบ่งกินครบถ้วนทุกคน ทั้งสาวแก่แม่ม่ายสร้างจินตนาการให้เกิดปาฏิหาริย์ว่าเนื้อทรายแม้เพียงตัวเดียว แต่ก็มีเนื้อแจกจ่ายกินกันจนกินไม่หมดเหลือทิ้ง จนนกกาบินมารุมกินเนื้อทรายที่เหลือที่บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียก “เซกา”
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2405 ได้มีผู้เฒ่า 3 คน คือ จันทรโคตร / จันผาย / ฮาดดา อพยพมาจากบ้านซางหาที่ทำกินใหม่ มาถึงที่แห่งหนึ่งเป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ มีห้วยหนองแหล่งน้ำมากมาย จึงได้บอกข่าวกับญาติพี่น้อง ผู้คนทั้งหลายจึงได้อพยพกันมาอยู่บริเวณนี้ ผู้คนต่างก็เอาไซ (เครื่องมือจับปลาพื้นเมือง) ลงไปดักปลาในห้วยและเนื่องจาก ปลาในลำห้วยมีมากมาย ไม่ว่าใครก็ตามเอาไซลงไปดักปลา พอยกขึ้นมาก็มีปลาเต็มไปหมดจนขนปลาไปไม่ไหว ต้องทิ้งปลาไว้บนฝั่ง นกกาพากันบินมารุมกินปลาที่ชาวบ้านทิ้งไว้ คนจึงเรียกว่า "บ้านไซกา" ห้วยนั้นก็เรียกว่า "ห้วยไซกา" ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น "เซกา" ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเซกา แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล 136 หมู่บ้าน ได้แก่
- เซกา (Seka) 23 หมู่บ้าน
- ซาง (Sang) 13 หมู่บ้าน
- ท่ากกแดง (Tha Kok Daeng) 16 หมู่บ้าน
- บ้านต้อง (Ban Tong) 15 หมู่บ้าน
- ป่งไฮ (Pong Hai) 18 หมู่บ้าน
- น้ำจั้น (Nam Chan) 13 หมู่บ้าน
- ท่าสะอาด (Tha Sa-at) 13 หมู่บ้าน
- หนองทุ่ม (Nong Thum) 13 หมู่บ้าน
- โสกก่าม (Sok Kam) 12 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอเซกาประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลท่าสะอาด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าสะอาด
- เทศบาลตำบลศรีพนา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลเซกา
- เทศบาลตำบลซาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลซางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเซกา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเซกา (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลศรีพนา)
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากกแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่ากกแดงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านต้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านต้องทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลป่งไฮ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่งไฮทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำจั้น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำจั้นทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะอาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าสะอาด (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบล ท่าสะอาด)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองทุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองทุ่มทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลโสกก่าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโสกก่ามทั้งตำบล
ภาษา
ภาษาพื้นเมืองที่ใช้พูดในท้องถิ่น คือ ลาว ย้อ ภูไท
สถานที่สำคัญ
- น้ำตกเจ็ดสี
- น้ำตกถ้ำพระ
- วัดเซกาเจติยาราม (พระอารามหลวง)
- สวนสาธารณะกุดซาง (สวนลิง)
ผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ดีเด่น ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าย้อมคราม ปลาร้า อาหาร
การคมนาคม
เส้นทางเดินรถที่สะดวกจากกรุงเทพมหานครโดยรถโดยสารสาย 33 กรุงเทพมหานคร–กระนวน-บ้านแพง (ผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธรเซกา) หรือ จุดจอด บขส.เซกาเมืองใหม่ มีรถทัวร์ที่ผ่าน บริษัท ขนส่ง (บขส) บ.เชิดชัยทัวร์ บ.407 พัฒนา บ.ชาญทัวร์ บ.โลตัสพิบูลทัวร์