ประวัติ
เดิมท้องที่อำเภอรัษฎาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในการปกครองของอำเภอห้วยยอด ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศแบ่งเขตท้องที่อำเภอห้วยยอด 5 ตำบล คือ ตำบลควนเมา ตำบลคลองปาง ตำบลหนองบัว ตำบลหนองปรือ และตำบลเขาไพร ตั้งเป็นกิ่งอำเภอโดยเรียกชื่อว่า กิ่งอำเภอรัษฎา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2534 และยกฐานะเป็น อำเภอรัษฎา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ ชื่อ "รัษฎา" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) อดีตเจ้าเมืองตรังที่ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่จังหวัดตรังเป็นอย่างยิ่ง

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอรัษฎาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบสูงป่าทิวเขาบรรทัดทางทิศตะวันออก และที่ราบมาทางทิศตะวันตกจดคลองปาง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางพารา สวนผลไม้ ผลไม้ที่มีชื่อ ได้แก่ ฝรั่งแป้นสีทอง ชมพู่ทูลเกล้า ชมพู่ทับทิมจันทร์ ลางสาด และลองกอง อำเภอรัษฎามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่อื่น ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลกะปางและตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) และทิวเขาบรรทัด
- ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลในเตา ตำบลท่างิ้ว และตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลวังหิน อำเภอบางขัน (จังหวัดนครศรีธรรมราช)
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอรัษฎาแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 50 หมู่บ้าน ได้แก่
|
![]() |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอรัษฎาประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลคลองปาง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลคลองปาง
- องค์การบริหารส่วนตำบลควนเมา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลควนเมาทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคลองปาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคลองปาง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลคลองปาง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองปรือทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไพร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาไพรทั้งตำบล
การคมนาคม
ทางสายหลัก ได้แก่
- ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 403 (ตรัง-ทุ่งสง) จากจังหวัดตรังถึงอำเภอรัษฎา ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 4 ช่องทางจราจร
- ถนนเพชรเกษม จากจังหวัดตรัง ผ่านอำเภอห้วยยอด เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 403 ถึงอำเภอรัษฎา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 2 ช่องทางจราจร