คำขวัญอำเภอพรหมพิราม
"พรหมพิรามเมืองพระ วังมะสระพระเครื่อง ลือเลื่องทุ่งสาน ชลประทานเขื่อนนเรศวร หลากล้วนมังคละดนตรี ประเพณียกธง"
ประวัติอำเภอพรหมพิราม
คำว่า พรหมพิราม หมายถึง เมืองที่งดงามเป็นที่อยู่แห่งพรหมหรือพระเจ้าผู้สร้างโลก เดิมเรียกว่า เมืองพรหมพิราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ตำบลมะตูม ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอชื่อว่า อำเภอพรหมพิราม เมื่อ พ.ศ. 2438 และได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ฝั่งขวาของลำน้ำน่านที่ บ้านย่านขาด เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา ต่อมาเมืองทางรัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายเหนือ (กรุงเทพ-เชียงใหม่) ขึ้นจึงย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งใกล้ทางรถไฟอีกครั้งหนึ่งที่บ้านกรับพวง (ปัจจุบัน คือบ้านพรหมพิราม) ตำบลพรหมพิราม ห่างจากสถานีรถไฟพรหมพิราม ประมาณ 500 เมตร สำหรับอาคารนั้นแต่เดิมเป็นไม้ชั้นเดียว ในปี พ.ศ. 2503 จึงได้ปรับปรุงขึ้นเป็น 2 ชั้น โดยเทพื้นคอนกรีตใต้ถุนอาคารเดิมและตีฝาโดยรอบ ซึ่งใช้เป็นที่ทำการของส่วนราชการต่างๆ ปัจจุบันได้สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่ ณ สถานที่เดิมเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น และเปิดทำการเมื่อ ปี พ.ศ. 2519 ในปี พ.ศ. 2515 กรมศิลปากรได้สำรวจแนวกำแพงดิน คูเมือง ฐานเจดีย์ ก่ออิฐและวัตถุโบราณ เช่น เครื่องสังคโลกสมัยกรุงสุโขทัย ในบริเวณแนวถนนพระร่วงจากกรุงสุโขทัย ผ่านบ้านท่างาม บ้านท่าทอง ต.ศรีภิรมย์ บ้านท้องพระโรง ตำบลดงประคำ ไปทางทิศตะวันออกไป อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอนครไทย ซึ่งขณะนี้เห็นเป็นแนวอยู่บ้าง สันนิษฐานว่าคงเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกรุงสุโขทัยกับเมือง บางยาง สมัยพ่อขุนบางกลางท้าว (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์) กับพ่อขุนเมือง ที่ร่วมมือกนยกกองทัพเข้าตีกรุงสุโขทัยอันเป็นเมืองหน้าด่านของขอมในสมัยนั้น โดยใช้เส้นทางนี้เดินทัพก็เป็นได้ และมีร่องรอยว่าครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งแคว้นล้านนา คงจะเดินทัพผ่านอำเภอพรหมพิรามไปยังเมืองพิชัยด้วย
- วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475 ตั้งตำบลทับยายเชียง แยกออกจากตำบลมะต้องและตำบลวงฆ้อง
- วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2491 ได้ตั้ง กิ่งอำเภอวัดโบสถ์ ขึ้นกับอำเภอพรหมพิราม
- วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2498 จัดตั้งสุขาภิบาลวงฆ้อง ในท้องที่บางส่วนของตำบลวงฆ้อง อำเภอพรหมพิราม
- วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ยกฐานะเป็น อำเภอวัดโบสถ์
- วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลพรหมพิราม ในท้องที่บางส่วนของตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม
- วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 ตั้งตำบลดงปะคำ แยกออกจากตำบลทับยายเชียง

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอพรหมพิรามห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 30 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดพิษณุโลก มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสวรรคโลก (จังหวัดสุโขทัย) และอำเภอพิชัย (จังหวัดอุตรดิตถ์)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวัดโบสถ์
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองพิษณุโลกและอำเภอบางระกำ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกงไกรลาศและอำเภอศรีสำโรง (จังหวัดสุโขทัย)
อำเภอพรหมพิรามแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 12 ตำบล 123 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | พรหมพิราม | 15 หมู่บ้าน | 7. | ตลุกเทียม | 9 หมู่บ้าน | ||||||||
2. | ท่าช้าง | 13 หมู่บ้าน | 8. | วังวน | 10 หมู่บ้าน | ||||||||
3. | วงฆ้อง | 11 หมู่บ้าน | 9. | หนองแขม | 10 หมู่บ้าน | ||||||||
4. | มะตูม | 6 หมู่บ้าน | 10. | มะต้อง | 12 หมู่บ้าน | ||||||||
5. | หอกลอง | 7 หมู่บ้าน | 11. | ทับยายเชียง | 6 หมู่บ้าน | ||||||||
6. | ศรีภิรมย์ | 13 หมู่บ้าน | 12. | ดงประคำ | 11 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอพรหมพิรามประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลพรหมพิราม ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพรหมพิราม
- เทศบาลตำบลวงฆ้อง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลวงฆ้องและตำบลมะต้อง
- องค์การบริหารส่วนตำบลพรหมพิราม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพรหมพิราม (นอกเขตเทศบาลตำบลพรหมพิราม)
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าช้างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวงฆ้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวงฆ้อง (นอกเขตเทศบาลตำบลวงฆ้อง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลมะตูม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะตูม
- องค์การบริหารส่วนตำบลหอกลอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหอกลองทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภิรมย์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีภิรมย์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลตลุกเทียม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตลุกเทียมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลวังวน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวังวนทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแขม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแขมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลมะต้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะต้อง (นอกเขตเทศบาลตำบลวงฆ้อง)
- องค์การบริหารส่วนตำบลทับยายเชียง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทับยายเชียงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลดงประคำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดงประคำทั้งตำบล