การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยกรมการพัฒนาชุมชน
การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
โดยกรมการพัฒนาชุมชน
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัส ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรชาวไทย มาโดยตลอดเวลานานกว่า 30 ปี ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืนภายใต้กระแส โลกาภิวัฒน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือปฏิบัติตามหลัก ความพอประมาณ ความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ ความชอบธรรมและคุณธรรม ทำให้ชุมชนพึ่งตนเองบนความพอเพียง
ตั้งแต่ปี 2549 กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาขยายผลในกระบวนการทำงาน เป็นระยะ ดังนี้
ระยะแรก ปี 2549-2551 ดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยเกณฑ์ประเมิน 6 ด้าน คือ
- ด้านการลดรายจ่าย (ทำสวนครัว ปลอดอบายมุข)
- ด้านการเพิ่มรายได้ (มีอาชีพสุจริต ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม)
- ด้านการประหยัด (มีการออม มีกลุ่มออมทรัพย์ฯ)
- ด้านการเรียนรู้ (สืบทอดภูมปัญญา มีการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง)
- ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ใช้วัตถุดิบในชุมชนประกอบอาชีพ ปลูกต้นไม้)
- ด้านการเอื้ออารีต่อกัน (ช่วยเหลือคนจน รู้รัก สามัคคี)
ระยะต่อมา ตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน ได้ขยายผลการทำงานสู่ความยั่งยืนโดย พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็น หมู่บ้านต้นแบบ มีศักยภาพ 4 ด้าน 32 ตัวชี้วัด คือ
ด้านจิตใจและสังคม (สามัคคี มีข้อตกลงข้อมูลหมู่บ้าน มีกองทุน ยึดหลักประชาธิปไตย มีคุณธรรม/จริยธรรม ชุมชนปลอดอบายมุข) 7 ตัวชี้วัด
ด้านเศรษฐกิจ (จัดทำบัญชีครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ รวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ มีการออมมีกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน) 5 ตัวชี้วัด
ด้านการเรียนรู้ (มีและใช้ข้อมูลชุมชน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างคุณค่า มีศูนย์เรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน สร้างเครือข่ายการพัฒนา) 7 ตัวชี้วัด
ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฯ มีกลุ่ม/องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม มีการใช้พลังงานทดแทนและการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) 4 ตัวชี้วัด
กรมการพัฒนาชุมชน ได้เลือก หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่ถูกจัดระดับด้วยเกณฑ์ชี้วัดของกระทรวงมหาดไทย 4 ด้าน 23 ตัวชี้วัด มาพัฒนาเป็น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ในแต่ละระดับ ด้วยกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ตามขั้นตอนในแต่ละระดับ ดังนี้
ระดับ “พออยู่ พอกิน” ผ่านเกณฑ์ จำนวน 10-16 ตัวชี้วัด เป็นต้นแบบการใช้ชีวิตพึ่งตนเอง ทำกิน ทำใช้ในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และมีการออม ด้ายกิจกรรม ดังนี้
- ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (ครัวเรือนพัฒนา)
- ครัวเรือนพัฒนาจัดทำแผนชีวิต นำเข้าสู่เวทีการทบทวนแผนชุมชน
- ครัวเรือนพัฒนาปฏิบัติกิจกรรมตามแผนชีวิต
- เพิ่มพูนทักษะการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามศักยภาพและความสนใจ
- จัดเวทีสรุปผลการพัฒนาครอบครัว ในภาพรวม ส่งเสริมความเป็นครัวเรือนต้นแบบ จัดทำเป็นเอกสารองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ขยายผล
- ประเมินความสุขมวลรวมของชุมชน (GVH)
ระดับ “อยู่ดี กินดี” ผ่านเกณฑ์ จำนวน 17-22 ตัวชี้วัด เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการพัฒนาในรูปกลุ่ม เพื่อเพิ่มรายได้และขยายโอกาสให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยกิจกรรม ดังนี้
- ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (กลุ่มต่างๆ)
- ปรับปรุง/ทบทวนแผนพัฒนากลุ่ม และบรรจุไว้ในแผนชุมชน
- ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนพัฒนากลุ่ม
- เพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม
- จัดเวทีสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่มในภาพรวม ส่งเสริมความเป็นครัวเรือนต้นแบบ จัดทำเป็นเอกสารองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ขยายผล
- ประเมินความสุขมวลรวมของชุมชน (GVH)
ระดับ “มั่งมี ศรีสุข” ต้องผ่านตัวชี้วัด ครบทั้ง 4 ด้าน 32 ตัวชี้วัด เป็นต้นแบบการบริหารการพัฒนาในแบบองค์กรเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในหมู่บ้าน ด้วยกิจกรรม ดังนี้
- ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (กลุ่มต่างๆ)
- ปรับปรุง/ทบทวนแผนพัฒนากลุ่ม และบรรจุไว้ในแผนชุมชน
- ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนพัฒนากลุ่ม
- เพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการกลุ่ม
- จัดเวทีสรุปผลการดำเนินงานของกลุ่มในภาพรวม ส่งเสริมความเป็นกลุ่มต้นแบบ จัดทำเป็นเอกสารองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ขยายผล
- ประเมินความสุขมวลรวมของชุมชน (GVH)
การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จึงเป็นการนำหมู่บ้านที่มีความพร้อม มีผล
การปฏิบัติ ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้ สำหรับหมู่บ้านอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มต้นในการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
การแยกประเภทหมู่บ้านเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย “พออยู่ พอกิน” “อยู่ดี กินดี” และ มั่งมี ศรีสุข” เพื่อใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ ให้กับหมู่บ้านที่มีพื้นฐาน หรือสถานการณ์ของหมู่บ้านใกล้เคียงกัน สามารถเรียนรู้ เลียนแบบได้ โดยไม่ต้องใช้ความความรู้ความชำนาญ ที่แตกต่างกันมาก
การจัดกิจกรรมในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ส่งผลในภาพรวม ดังนี้
- พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน บทบาทของผู้นำ ให้เป็น แกนนำ หรือหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการ
นำประชาชนในหมู่บ้าน ให้ลุกขึ้นทำ กิจกรรม เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ส่งเสริม สนับสนุนให้ครัวเรือน นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ใน
ชีวิตประจำวัน มีการจัดทำ บัญชีครัวเรือน จัดทำ แผนชีวิต โดยมี ครอบครัวพัฒนา เป็นต้นแบบ ขยายผล การปฏิบัติสู่ครัวเรือนข้างเคียง
- 3. ส่งเสริมให้ผู้นำ จัด กระบวนการจัดทำแผนชุมชน สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคิด ตัดสินใจ กำหนดเป้าหมายการทำงานโดยคนในชุมชนเอง ผลักดันและสร้างความรับผิดชอบให้เกิดกับคนในชุมชน ในการบริหารจัดการกิจกรรม ตามแผนการพัฒนา ซึ่งสามารถบูรณาการกิจกรรมต่างๆ จากทุกหน่วยงานโดยมี แผนชุมชนเป็นเครื่องกำกับการพัฒนา
- เมื่อได้ดำเนินการมีประสบการณ์ มีความรู้ จึงจัดทำเป็นชุดความรู้ มี หลักสูตรสำหรับการถ่ายทอดความรู้ จัดเป็น แหล่งเรียนรู้ หรือ ศูนย์เรียนรู้ เพื่อการขยายผลในฐานะหมู่บ้านต้นแบบต่อไป
- ผลการจัดโครงการ กิจกรรมต่างๆ นอกจากจะจัดขึ้นเพื่อการป้องกัน แก้ปัญหา อนุรักษ์ เพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนแล้ว ยังสามารถสร้างความรู้สึกที่ดี ความพึงพอใจ ความสุขซึ่งสามารถวัดได้ ด้วยการประเมินความ “อยู่เย็น เป็นสุข” หรือ ความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน (Gross Village Happiness:GVH)
- การจัดโครงการ กิจกรรมต่างๆ สามารถสร้างภาวะผู้นำ ทักษะการจัดการ สร้างและพัฒนากลุ่มต่างๆ ในชุมชน ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
- การทำงานในหมู่บ้านด้วยคน คณะเดียว/กลุ่มเดียว อาจเกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติ เช่น ขาดทรัพยากร ความรู้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญยังไม่มาก ต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ ความชำนาญหรือแม้กระทั่งการพึ่งพา แลกเปลี่ยนทรัพยากรจากภายนอก ซึ่งสามารถสร้างความสัมพันธ์เป็นเครือข่ายระหว่างกันทั้งกับหน่วยงาน/องค์กร/หมู่บ้านอื่นๆ เป็นการยกระดับการทำงานที่กว้างออกไป และทำงานที่ยากและท้าทายเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นได้ เพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน