ประวัติความเป็นมาของอำเภอโกสุมพัย จังหวัดมหาสารคาม
ตามบันทึกพงศาวดาร หัวเมืองมณฑลอีสานในส่วนที่เกี่ยวกับเมืองโกสุมพิสัย ซึ่งคณะกรรมการเมืองโกสุมพิสัย ทำส่งไปถวายกรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๓๙ มีความว่าเมืองโกสุมพิสัยนี้ แต่ก่อนชื่อบ้านวังท่า ยังไม่มีคำว่า " หัวขวาง" เติมท้าย ต่อมาจึงได้นามว่า บ้านวังท่าหอขวาง สันนิษฐานว่าเคยเป็นบ้าน ๆ หนึ่งนานมาแล้ว โดยสันนิษฐานจากลักษณะศิลปะของพระพุทธรูปที่พบ คาดว่าจะมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในราว พ.ศ. ๑๓๐๐- ๑๗๐๐ในสมัยขอมเรืองอำนาจ สมัยเดียวกับปราสาทหินพิมาย เขาพระวิหาร และกู่ต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วภาคอีสาน ต่อมาถูกปล่อยให้รกร้างไปประมาณ ๒๐๐ ปี จนเกิดเป็นป่าดงพงทึบมีช้าง เสือ หมี กวาง ละมั่ง ลิง และสัตว์ ต่าง ๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากส่วนที่มาของคำว่า " หอขวาง" นั้น มีที่มาดังนี้
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ มีนายพราน ๒ คน คนหนึ่งชื่อพรานหมา อีกคนหนึ่งชื่อพรานบัวกับพวกอีก ๑๐ คน เป็นคนบ้านโนนเมือง (บ้านโนนเมืองเป็นบ้านเก่าแก่อีกบ้านหนึ่งอยู่ตำบลแพงอำเภอโกสุมพิสัย ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเมืองขอนแก่นมาก่อน พากันไปหาล่าสัตว์ป่า แต่ก็หาได้พบสัตว์ป่าไม่ จนล่วงเข้ามาในเขตพัทธสีมาด้านตะวันตก (อยู่ข้างวัดกลางโกสุมในปัจจุบัน) ต่างก็รู้สึกอ่อนเพลีย ไปตาม ๆ กัน จึงพากันหยุดพักนอนในที่นั้นในคืนนั้นพรานคนหนึ่งฝันว่า มีบุรุษหนึ่ง ร่างกายกำยำสูงใหญ่ ท่าทางดุร้ายน่ากลัวถือตะบองมาขู่ว่า " พวกสูมาทำไม ไม่รู้ว่ากูเป็นใหญ่อยู่ที่นี่หรือ" สูล่วงล้ำมาในเขตแดนของกูทำไม?กูจะตีเสียให้ตายเดียวนี้ ! " พรานเกิดความหวาดกลัวจนตัวสั่น ได้แต่วิงวอนร้องขอชีวิตไว้บุรุษนั้นจึงสั่งว่า "ถ้าพวกสูอยากได้เนื้อ จงพากันมากราบไหว้ทำสักการะบูชา กับปลูกหอเพียงตาขวางตะวันให้กู ถ้าไม่ทำเช่นนั้น กูจะตามไปฆ่าเสียให้ตาย และพวกสูจะไม่ได้เนื้อไปแม้สักตัวเดียว"พรานคนนั้นตกใจตื่นขึ้น ก็ได้เล่าความฝันให้พรรคพวกฟัง จึงตกลงกันว่าจะปลูกหอให้ตามที่ได้นิมิตนั้นครั้นรุ่งเช้า จึงช่วยกันปลูกหอมเหศักดิ์ (ศาลเจ้า) ซึ่งมีลักษณะทอดยาวจากทิศเหนือมาทิศใต้ ซึ่งเรียกว่า " ขวางตะวัน" (หอขวาง) แล้วพากันหาดอกไม้ต่าง ๆ มาบูชาและกราบไหว้อธิษฐานขอให้ล่าเนื้อได้สมความประสงค์ แล้วก็ออกหาเนื้อตามป่าแถบนั้น ก็ไปพบหมูป่า กำลังขุดคุ้ยอาหารอยู่ริมฝั่งน้ำห่างจากที่พักประมาณ ๑ เส้น พรานก็เลยยิงถูกกลางลำตัวพอดี แต่หมูป่าไม่ตายคาที่พวกพรานจึงไล่ตามหมูป่าไปพบโบสถ์หลังหนึ่ง (คือสถานที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อมิ่งเมืองเดี๋ยวนี้)เห็นมีรอยเลือดติดอยู่ฝาผนัง จึงตามรอยเลือดไปจนพบหมูป่านอนตายพิงผนังโบสถ์ร้างอีกแห่งหนึ่งอยู่ (คือโบสถ์ร้างวัดใต้โกสุม) พวกพรานจึงพากันหามหมู่ป่ากลับถิ่นฐานของตนต่อไปส่วนความเป็นมาของบรรพบุรุษชาวโกสุมพิสัยนั้น พงศาวดารกล่าวไว้ว่า บรรพบุรุษเป็นชาวกรุงศรีสัตนาคนหุต (ลานช้าง) ซึ่งได้อพยพกระจัดกระจาย ลงมาอยู่ในดินแดนอีสานทุกวันนี้โดยมาแสวงหาที่ทำกินอันเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมแก่จริตนิสัยของตน พวกไหนเห็นว่าสถานที่ใดเป็นที่เหมาะสม คือมีที่ทำกิน มีน้ำ มีปลา และมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ก็รวมกลุ่มกันตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นในสถานที่นั้น ๆ เช่นเมืองหนองบัวลำภู (ลุ่มภู) นครจำปาศักดิ์ ดอนมดแดง และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่สามารถจะจาระไน ให้ครบถ้วนได้ ในสมัยนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓ มณฑล คือ ๑. มณฑลอีสาน (ลาวกาว) ๒. มณฑลอุดร (ลาวพวน) ๓. มณฑลนครราชสีมา (ลาวกลาง) เฉพาะมณฑลอีสานนั้น ตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี
สมัยนั้นบ้านเมืองต่าง ๆ อยู่ห่างกันมาก เพราะพลเมืองมีน้อย ไม่เหมือนทุกวันนี้ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานซึ่งหม่อมอมรวงศ์ วิจิตร ( ม.ร.ว. ปฐม คเนจร)กล่าว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๓๑ ชาวกรุงศรีสัตนาคนหุต (ลานช้าง) ได้พากันอพยพไปตั้งบ้านกระติบเมืองกลางริมแม่น้ำโขง ฝั่งตะวันตกขนานนามเมืองว่า พระนครกาละจำบากนาคบุรีศรี มีพระเจ้าสุทัศนราชาเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ต่อมาเมื่อ ญาคูวัดโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) พาบริวารมาตั้งอยู่นครจำปาศักดิ์ ได้อัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งเป็นพระราชนัดดา ขอพระเจ้าสุริยวงศา แห่งเวียงจันทร์ขึ้นปกครองเมือง ทรงพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธรางกูร ในปี พ.ศ. ๒๒๕๖ เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น นครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี เมื่อพลเมืองมากขึ้น ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินคับแคบ ท้าวแก้วมงคล (จารย์แก้ว) แห่งนครจำปาศักดิ์ได้นำสมัครพรรคพวกแยกพลเมืองจากนครจำปาศักดิ์ ไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๖ ชื่อว่า " เมืองสุวรรณภูมิ"(คืออำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ทุกวันนี้)จำเนียรกาลต่อมา เมืองสุวรรณภูมิมีพลเมืองมากขึ้น บุตรชายท้าวแก้วมงคล ชื่อท้าวสุทนต์ ได้นำพรรคพวกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปตั้งเมืองใหม่อีกชื่อว่า เมืองร้อยเอ็ด เมืองนี้ตั้งขึ้นเมื่อปีมะแม พุทธศักราช ๒๓๑๘ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๓๗ เมืองร้อยเอ็ดเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ลุถึงพุทธศักราช ๒๔๐๘ จุลศักราช ๑๒๒๗ รัตนโกสินทร์ศก ๗๒ ได้มีการแยกพลเมืองจากเมืองร้อยเอ็ดมาตั้งขึ้นอีกชื่อว่า เมืองมหาสารคาม โดยมีพระเจริญราชเดชวรเชษฐ์ขัติย วงษา (ท้าวมหาชัย กวด) เป็นเจ้าเมืองและท้าวบัวทอง(หลาน) ทั้งสองท่านนี้เป็นหัวหน้าบัญชาการ สร้างเมือง พระเจริญราชเดชเป็นเจ้าเมืองมหาสารคามตั้งแต่ปี ๒๔๐๘ ถึงปี ๒๔๒๐ ตอนนั้นพระธำรงชัยธวัชเจ้าเมืองธวัชบุรี (นามเดิมท้าวโพธิราช เป็นบุตรของพระพิไสยสุริยวงศ์ เจ้าเมืองโพนพิสัย) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ "ท้าวเสือ" ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ด้วยกันกับพระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม พระเจริญราชเดชเห็นว่า ท้าวเสือเป็นผู้ที่รับราชการเมืองมาด้วยความอุตสาหะวิริยะ กอรปด้วยเป็นผู้มีสติปัญญารอบรู้ จึงส่งให้ไปเรียนการเมือง(การรัฐศาสตร์)ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยท้าวอุ่น (พระเจริญราชเดช
เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ ๓) เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็กลับมารับราชการยังที่เดิม เจ้าเมืองมหาสารคามจึงเลื่อนตำแหน่งท้าวเสือให้เป็น " ท้าวสุริโย"ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ (ปีที่พรานหมาพรานบัวมาสร้างหอขวางตะวัน) ได้มีครอบครัวอพยพมาจากบ้านหนองคู แขวงเมืองสุวรรณภูมิ ๗ ครอบครัว มาจากบ้านส่องแขวงเมืองมหาสารคามอีก ๕ ครอบครัว รวมเป็น ๑๒ ครอบครัว มีคนประมาณ ๓๑ คน ได้มาพบที่นี่เข้าเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีใกล้น้ำ สมควรที่จะตั้งเป็นบ้านได้ จึงพากันถากถางขุดโค่นปรับพื้นที่ใกล้เคียงกับศาลเจ้า (หอขวาง)นี้ แล้วตั้งเป็นบ้านขึ้นให้ชื่อตามฉายาของหอที่พรานสร้างไว้นั้นว่า " บ้านหอขวาง" แต่นั้นเป็นต้นมาครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๔ อุปฮาตเมืองมหาสารคาม พาสมัครพรรคพวกมาอีก ๑๖ ครอบครัว รวมชายหญิงทั้งสิ้นประมาณ ๖๒ คน มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหอขวาง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๑ พระเจริญราชเดช (กวด) เจ้าเมืองมหาสารคาม ได้ถึงแก่กรรมลง อุปฮาต จึงต้องกลับไปดำรงตำแหน่งแทนพระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมหาสารคามต่อไป ตั้งแต่นั้นมาข่าวเล่าลือความอุดมสมบูรณ์ของบ้านดงวังท่าหอขวางก็กระจายออกไป จึงมีคนอพยพมาจากถิ่นต่าง ๆ เช่น มาจากเขตเมืองกันทรวิชัย และเมืองท่าสวนยา ซึ่งแตกบ้านอพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็น ๓ หมู่บ้าน คือบ้านคุ้มใต้ บ้านคุ้มกลาง และบ้านคุ้มสังข์ ค่อย ๆ เจริญและเพิ่มปริมาณครอบครัวขึ้นเป็นลำดับต่อมาเมื่อปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๒๕ จุลศักราช ๑๒๔๔ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๐พระเจริญราชเดช( ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคาม เห็นว่าควรจะตั้งเมืองขึ้น ๒ เมือง คือ ๑. ขอตั้งบ้านหนองบัวโพธิธานาเลา โดยขอท้าวสุริยวงษ์ (บุญมี) เป็นเจ้าเมืองวาปีปทุม ต่อมาเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงย้ายมาตั้งที่บ้านหนองแสงเป็นเมืองวาปีปทุมจนทุกวันนี้
๒. ขอตั้งบ้านดงวังท่าหอขวาง โดยขอท้าวสุริโย (เสือ) บุตรท้าวโพธิราช หลานของพระขัติยวงษา ( เสือ) เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวเชียง ( จันโท) น้องชายพระเจริญราชเดชเป็นอัคฮาตขอท้าวราชามาตย์ บุตรเวียงแก หลานพระเจริญราชเดช(ฮึง) เป็นอัควงษ์ ขอท้าวสายทองบุตรท้าวสุทธิสารเมืองร้อยเอ็ดเป็นวรบุตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านดงวังท่าหอขวางเป็นเมืองโกสุมพิสัยให้ท้าวสุริโย (เสือ) เป็นพระสุนทรพิพิธเจ้าเมืองขึ้นกับเมืองมหาสารคาม ส่วนตำแหน่งอัคฮาต อัควงษ์และวรบุตร ก็ได้โปรดให้มีตราพระราชสีห์แต่งตั้งตามที่พระราชเดชขอไปในการขอตั้งเมืองวาปีปทุมและเมืองโกสุมพิสัยทั้ง ๒ เมืองนี้ ตามพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน กล่าวไว้ว่า พระเจริญราชเดช (ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคาม ได้แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงษานำใบบอกพร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการลงไปเฝ้าทูลละอองธุรีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕เครื่องราชบรรณาการบ้านหนองแสง ใช้เงินทำเป็นรูปดอกบัว เพราะหนองแสงสมัยนั้นมีบัวมาก จึงพระราชทานนามเมืองตามเครื่องราชบรรณาการว่า " วาปีปทุม" เพราะวาปี แปลว่า บึงหรือหนองน้ำ ปทุม แปลว่า ดอกบัวส่วนบรรณาการของบ้านดงวังท่าหอขวางนั้น ใช้เงินทำเป็นรูปดอกมะคำป่า เพราะถิ่นนี้แต่ก่อนมีแต่ต้นมะคำป่าเป็นส่วนมาก จึงพระราชทานนามเมืองว่า "โกสุมพิสัย" ซึ่งแปลว่าแดนหรือที่อยู่แห่งต้นมะคำป่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวสุริยวงษาเป็น " พระพิทักษ์นรากร เป็นเจ้าเมืองวาปีปทุม และตั้งท้าวสุริโย (เสือ) เป็น " พระสุนทรพิพิธ เป็นเจ้าเมืองโกสุมพิสัย " ชื่อเมืองและชื่อเจ้าเมืองทั้งสองนี้ เป็นราชทินนามคล้องจองกันมากคือ
ชื่อเมืองก็ว่า วาปีปทุม โกสุมพิสัย ชื่อเจ้าเมือง ก็ว่า พระพิทักษ์นรากร พระสุนทรพิพิธเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ การปกครองได้แบ่งเขตการปกครองประเทศตามพระราชบัญญัติการปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๐ ออกเป็นมณฑล จังหวัด และอำเภอ เมืองโกสุมพิสัยจึงถูกยุบลงเป็นอำเภอโกสุมพิสัย โดยพระสุนทรพิพิธได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอคนแรก
ปัจจุบันได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล ได้แก่
1. | หัวขวาง | (Hua Khwang) | 24 หมู่บ้าน | 10. | เขื่อน | (Khuean) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
2. | ยางน้อย | (Yang Noi) | 14 หมู่บ้าน | 11. | หนองบอน | (Nong Bua) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
3. | วังยาว | (Wang Yao) | 12 หมู่บ้าน | 12. | โพนงาม | (Phon Ngam) | 12 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
4. | เขวาไร่ | (Khwao Rai) | 20 หมู่บ้าน | 13. | ยางท่าแจ้ง | (Yang Tha Chaeng) | 10 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
5. | แพง | (Phaeng) | 16 หมู่บ้าน | 14. | แห่ใต้ | (Hae Tai) | 19 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
6. | แก้งแก | (Kaeng Kae) | 10 หมู่บ้าน | 15. | หนองกุงสวรรค์ | (Nong Kung Sawan) | 10 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
7. | หนองเหล็ก | (Nong Lek) | 20 หมู่บ้าน | 16. | เลิงใต้ | (Loeng Tai) | 12 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
8. | หนองบัว | (Nong Bua) | 10 หมู่บ้าน | 17. | ดอนกลาง | (Don Klang) | 11 หมู่บ้าน | ||||||||||||||||||
9. | เหล่า | (Lao) |
