อำเภอเกาะคา
อำเภอเกาะคา (คำเมือง: ) เป็นหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง และเป็นที่ตั้งวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางคือ วัดพระธาตุลำปางหลวง
อำเภอเกาะคาตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2457 แต่เดิมมีชื่อว่า อำเภอสบยาว เนื่องจากที่ตั้งอำเภอเดิมตั้งอยู่บริเวณที่ลำน้ำแม่ยาวไหลมาบรรจบกับแม่น้ำวัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกาะคาปัจจุบันไปทางทิศเหนือ 1 กิโลเมตร คำว่า "บรรจบ" ชาวบ้านพื้นเมืองเรียกว่า "สบ" จึงขนานนามว่า "อำเภอสบยาว" ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2459 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอสบยาวเป็น อำเภอเกาะคา เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในเขตตำบลเกาะคา คำว่า "เกาะคา" มีประวัติความเป็นมาคือ บริเวณที่ตั้งตำบลแต่เดิมเป็นทางน้ำของลำน้ำแม่ยาว ซึ่งไหลมาจากทิวเขาขุนตาล (เขาผีปันน้ำ) เขตติดต่อกับจังหวัดลำพูน ผ่านตำบลใหม่พัฒนาและตำบลไหล่หินมาบรรจบกับแม่น้ำวังที่ตำบลเกาะคา ครั้นนานเข้าน้ำได้พัดเอาตะกอนดิน หิน และทราย มากองรวมกันจนกลายเป็นสันดอนทรายขึ้น (สันดอนทราย ชาวบ้านพื้นเมืองเรียกว่า เกาะ) ภายหลังลำน้ำแม่ยาวได้เปลี่ยนทางเดินของร่องน้ำทำให้เกิดสันดอนทรายเป็นบริเวณกว้าง แล้วกลายสภาพเป็นพื้นดินปนทรายซึ่งมีหญ้าคาขึ้นงอกงามเต็มที่ เมื่อมีชาวบ้านไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านจึงเรียกว่า "เกาะคา"
อำเภอเกาะคาตั้งอยู่ทางตอนกลาง ค่อนไปทางทิศใต้ของจังหวัด ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 15 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอห้างฉัตรและอำเภอเมืองลำปาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่ทะ
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอสบปราบ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเสริมงามและอำเภอห้างฉัตร

การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอเกาะคา แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 9 ตำบล 78 หมู่บ้าน
1. ตำบลลำปางหลวง จำนวน 13 หมู่บ้าน
2. ตำบลนาแก้ว จำนวน 9 หมู่บ้าน
3. ตำบลไหล่หิน จำนวน 6 หมู่บ้าน
4. ตำบลวังพร้าว จำนวน 7 หมู่บ้าน
5. ตำบลศาลา จำนวน 7 หมู่บ้าน
6. ตำบลเกาะคา จำนวน 8 หมู่บ้าน
7. ตำบลนาแส่ง จำนวน 8 หมู่บ้าน
8. ตำบลท่าผา จำนวน 11 หมู่บ้าน
9. ตำบลใหม่พัฒนา จำนวน 9 หมู่บ้าน
วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป
ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวาย แก้ว แหวน เงิน ทอง เป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. 2275 นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน