ปราชญ์ชุมชน
ปราชญ์ชุมชน
บุคคลผู้เป็นเจ้าของภูมิปัญญาชาวบ้าน และนำภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตจนประสบผลสำเร็จสามารถถ่ายทอดเชื่อมโยงคุณค่าของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม
ความเหมือนกันระหว่างผู้ทรงภูมิปัญญาไทยกับปราชญ์ชาวบ้านคือ บทบาทและภารกิจในการนำภูมิปัญญาไปใช้แก้ปัญหา และการถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบัน ส่วนความแตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับระดับภูมิปัญญาที่จะนำไปแก้ปัญหาและถ่ายทอดกล่าวคือ ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยย่อมมีความสามารถหรือภารกิจในการนำภูมิปัญญาระดับชาติไปแก้ปัญหา หรือถ่ายทอด หรือผลิตผลงานใหม่ๆ ที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ส่วนปราชญ์ชาวบ้านมีความสามารถหรือภารกิจในการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นไปแก้ปัญหาหรือถ่ายทอดในท้องถิ่น
ปราชญ์ชาวบ้าน
ปราชญ์ชาวบ้านคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาที่มาจากชาวบ้าน
เป็นความรู้ ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษเกิดจากกระบวนการเรียนรู้ปรับตัว
ผ่านประสบการณ์ที่สั่งสมพัฒนาและสืบทอดกันต่อๆมา เพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิต
ได้อย่างมีความสุขหลักการแนวคิดและวิถีชีวิตของปราชญ์ เป็นสิ่งที่คนในยุคสมัยปัจจุบันนี้
ควรได้เรียนรู้และนำไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตการนำภูมิปัญญาจากปราชญ์ชาวบ้าน
มาประยุกต์ใช้ในการทำงานซึ่งสามารถนำไปใช้ปฏิบัติใช้ในระดับบุคคล
และชุมชนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี บรรพบุรุษของชาวไทยเป็นชนชาติที่มีศิลปะวัฒนธรรมจารีตประเพณี
ที่เก่าแก่สืบทอดกันมานานนับร้อยนับพันปี
โดยบรรพบุรุษของชาวไทยได้นำเอาความรู้ความสามารถด้านต่างๆ
ถ่ายทอดให้คนรุ่นหนึ่งไป สู่คนอีกรุ่นหนึ่งโดยมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
เพื่อนำความรู้นั้นๆมาใช้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมชุมชนท้องถิ่น
ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นโดยความรู้ความสามารถเหล่านี้จะเรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”
ปราชญ์ชาวบ้าน
หมายถึงบุคคลในสังคมชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าของภูมิปัญญาและนำภูมิปัญญามาใช้ประโยชน์
ในการดำรงชีวิตจนประสบผลสำเร็จ จากการสั่งสมประสบการณ์และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้
เชื่อมโยงคุณค่าภูมิปัญญาของอดีตกับปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการดำรงชีพในปัจจุบัน
ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมายถึง สิ่งที่แสดงความรู้ ความคิด และการกระทำของบรรพบุรุษของเรา เพื่อที่จะดำรงชีวิตรอดอย่างมีความสุข
ประเภทของภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาไทย แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ชาติ และระดับท้องถิ่น
1. ภูมิปัญญาระดับชาติ เป็นภูมิปัญญาที่พัฒนาสังคมไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในอดีตเช่น การกอบกู้เอกราชโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และการเสียแผ่นดินบางส่วนของประเทศไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรักษาเอกราชชาติไทย ทำให้ประเทศไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกในยุคล่าอณานิคม หรือจักรวรรดินิยม
2. ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน คือสิ่งที่แสดงความรู้ ความคิดและการกระทำของบรรพบุรุษของเรา เพื่อที่ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
สัมมาชีพชุมชน
- สัมมาชีพ หมายถึง อาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ เป็นการทำมาหากินโดยไม่ได้เอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง หรือเป็นเป้าหมายสุดท้าย และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทางสังคม กล่าวคือ ความสุขของตน และคนทำงาน รวมถึงประโยชน์ของผู้บริโภค และผู้รับบริการหลัก
- สัมมาชีพชุมชนเข้มแข็ง หมายถึง ชุมชนโดยประชาชนมีการประกอบอาชีพโดยชอบ ซึ่งมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และนำรายได้ไปออมเพิ่มขึ้น ลดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชนต้องสอดคล้องกับวิถีของชุมชนเพื่อความมุ่งหมายในการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน
- ปราชญ์ชุมชน หมายถึง ผู้ที่ประกอบสัมมาชีพ จนมีความรู้ความชำนาญในการประกอบอาชีพ หรือมีความเชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ ประสบความสำเร็จและมีความมั่นคงในอาชีพ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน พร้อมมีจิตอาสาที่จะถ่ายทอดและขยายผลไปยังบุคคลอื่นๆ ในชุมชน
ขั้นตอน วิธีการ สร้างสัมมาชีพชุมชน
- การฝึกอบรมปราชญ์ เพื่อให้เป็น“ผู้นำสัมมาชีพชุมชน” สามารถเป็นปราชญ์วิทยากร ในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างสัมมาชีพชุมชน โดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 แห่ง ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยในการจัดฝึกอบรมปราชญ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านการถ่ายทอดความรู้และการจัดกระบวนการสัมมาชีพในชุมชนของตนเอง จำนวนหมู่บ้านละ 1 คน รวม 23,589 คน
- สร้างทีมปราชญ์สัมมาชีพชุมชน ให้ปราชญ์ผู้นำสัมมาชีพชุมชน ร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่าย แสวงหาทีมปราชญ์สัมมาชีพชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ จัดประชุมและสร้างการเรียนรู้ เพิ่มอีกหมู่บ้านละ 4 คน เพื่อเป็นทีมในการฝึกอาชีพ และไปส่งเสริม สนับสนุน กำกับและติดตามให้ครัวเรือนเป้าหมาย จำนวนหมู่บ้านๆละ 20 คน มีความรู้ในการทำอาชีพ สามารถพัฒนาตนเองและสร้างอาชีพได้
- ฝึกอบรมสร้างสัมมาชีพชุมชน เป้าหมายจำนวนหมู่บ้านละ 20 คน ประกอบด้วย ผู้ที่ได้สำรวจความต้องการฝึกอาชีพไว้ที่หมู่บ้าน หรือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ จปฐ. โดยปราชญ์ชุมชนที่เป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดประจำหมู่บ้านเป็นผู้ถ่ายทอดและฝึกอาชีพ ร่วมกับทีมปราชญ์ชุมชนของหมู่บ้าน หรืออาจเชิญวิทยากรปราชญ์ชุมชนในหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตจังหวัดเดียวกัน ถ้ามีอาชีพที่แตกต่างไปจากความรู้ของปราชญ์ชุมชนร่วมเป็นวิทยากร หรือมีการจัดไปศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้ชุมชนหมู่บ้านอื่นๆ ตามอาชีพ ที่ได้ฝึกอบรม ซึ่งกระบวนการถ่ายทอดความรู้เน้นแบบชาวบ้านสอนชาวบ้าน เน้นฝึกการปฏิบัติจริง ใช้วัสดุจริง ลักษณะอาชีพ อาจเป็นอาชีพหลัก อาชีพเสริม หรือ อาชีพใหม่ ก็ได้ ตัวอย่างการพัฒนาสัมมาชีพ เช่น
- พัฒนาอาชีพหลักที่ทำอยู่เดิมให้มีรายได้มากขึ้น ด้วยการลดต้นทุน เปลี่ยนวิธีการ หรือการสร้างคุณภาพให้ผลผลิต หรือการทำแบบผสมผสานใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของการผลิตหรือวัตถุดิบ มีผลผลิตตรงกับช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ เช่น การทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน ใช้ระบบน้ำหยด ปลูกผักออร์กานิกส์ ปศุสัตว์ปลอดภัย เป็นต้น
- การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ปศุสัตว์ ใช้วัตถุดิบที่มีมากในชุมชนมาแปรรูปให้ตรงกับความต้องการของตลาด พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต
- อาชีพที่เกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับด้านการท่องเที่ยวชุมชน ตามศักยภาพ ของทรัพยากรและพื้นที่ของชุมชน เช่น การบริการนักท่องเที่ยว นวดแผนไทย สปาร์ โฮมสเตร์ เป็นต้น
- การส่งเสริมให้เกิดสัมมาชีพมั่นคง แกนนำสัมมาชีพและปราชญ์ชุมชน รวมหมู่บ้านละ 5 คน ต้องส่งเสริม ติดตามสนับสนุน และกำกับให้ 20 ครอบครัว สามารถนำความรู้จากการฝึกอบรมไปประกอบอาชีพ ให้มีรายได้หรือลดรายจ่าย ได้อย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้นำ กลุ่ม องค์กร และพาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยใช้ศักยภาพของทุนชุมชนและแผนชุมชน เป็นเครื่องมือในการบูรณาการหน่วยงาน ทรัพยากร และงบประมาณ เพื่อสนับสนุนครัวเรือนสัมมาชีพ ให้สามารถดำเนินการพัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพได้ อย่างมั่นคง สร้างความเข้มแข็งโดยการรวมกลุ่ม พัฒนากลุ่มเข้าถึงแหล่งทุน พัฒนากลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือ OTOP เชื่อมโยงหรือใช้แนวทางและองค์ความรู้ จากบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด……………………. จำกัด ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน มีรายได้ ให้ความร่วมมือในการพัฒนา เศรษฐกิจฐานรากจะมั่นคงและชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้
- เป้าหมายและเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ
- พื้นที่เป้าหมาย 23,589 หมู่บ้าน 6,095 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด
- ปราชญ์ชุมชนได้รับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอด 23,589 คน
- ปราชญ์ชุมชนพัฒนาเป็นแกนนำสัมมาชีพ 117,945 คน
- ครัวเรือนมีสัมมาชีพและมีรายได้ 471,780 ครัวเรือน
- ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 3