ประวัติอำเภอเก้าเลี้ยว
อำเภอเก้าเลี้ยวมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมาปี พ.ศ. 2512 ประกาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 กันยายน 2512 โดยตั้งตำบลเก้าเลี้ยวเป็นกิ่งอำเภอเก้าเลี้ยว การปกครองขึ้นกับอำเภอ บรรพตพิสัย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2512 รวมตำบลมหาโพธิ ตำบลเขาดิน ตำบลหนองเต่า และตำบลหัวดงไว้ในปกครองด้วย โดยอาศัยห้องแถวในตลาดเก้าเลี้ยว เป็นที่ทำการชั่วคราว เป็นที่ทำการกิ่งอำเภอเก้าเลี้ยว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2513 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นอำเภอเก้าเลี้ยว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2516 และประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 90 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2516 และประกอบพิธีเปิดป้ายที่ว่าการอำเภอ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2516
ประวัติความเป็นมาของชื่อ “ เก้าเลี้ยว “ สันนิษฐานได้ 2 ทาง คือ
- จากเพี้ยนเสียง เดิมประชากรส่วนใหญ่ปลูกกล้วยไข่เป็นสินค้า มีชาวจีนซึ่งเป็น พ่อค้าคนกลางรับซื้อกล้วยไข่ไปขาย โดยขนส่งทางเรือ ครั้นเมื่อมาถึงตลาดเก้าเลี้ยวในปัจจุบัน ชาวจีนจะตะโกนบอกนายท้ายเรือ เป็นภาษาจีน “ เก๋าเหลี่ยว “ ซึ่งแปลว่า “ ถึงแล้ว “ เพื่อให้ นายท้ายเรือปล่อยเรือของตนเมื่อมีการตะโกนว่า “ เก๋าเหลี่ยว “ บ่อยๆ เข้าคนฟังได้ยินนำไปพูด ต่อๆ กันเสียงอาจเพี้ยนไปเป็น “ เก้าเลี้ยว “ ก็เป็นไปได้
- จากสภาพภูมิศาสตร์ เดิมการเดินทางจากจังหวัดนครสวรรค์ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะ แล่นไปตามแม่น้ำปิง เรือต้องแล่นผ่านคุ้งน้ำน้อยใหญ่ที่คดเคี้ยวคดไปมา นับถึงหมู่บ้านนี้ได้ เก้าเลี้ยวพอดีชาวบ้านจึงขนานนามว่า “บ้านเก้าเลี้ยว “

ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเก้าเลี้ยวตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีพื้นที่ติดต่อกับอำเภออื่น ๆ ดังนี้
--> ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบางตาหงายและตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย
--> ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอชุมแสง
--> ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหนองกระโดน ตำบลบ้านแก่ง และตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมืองนครสวรรค์
--> ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลบางตาหงาย และตำบลหูกวาง อำเภอบรรพตพิสัย
การปกครองส่วนภูมิภาค
ปัจจุบันอำเภอเก้าเลี้ยว มีพื้นที่ประมาณ 256.713 ตารางกิโลเมตร หรือ 160,446 ไร่ แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 5 ตำบล 43 หมู่บ้าน ได้แก่
1.มหาโพธิ 5 หมู่บ้าน
2.เก้าเลี้ยว 5 หมู่บ้าน
3.หนองเต่า 10 หมู่บ้าน
4.เขาดิน 11 หมู่บ้าน
5.หัวดง 12 หมู่บ้าน