มาตรฐานงานชุมชน
มาตรฐานงานชุมชน
จากการพัฒนาที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้าไปมีส่วนกำหนดแนวทางการพัฒนาในลักษณะผู้ให้ และจะคำนึงถึงการเข้าร่วมตามบทบาทภารกิจของหน่วยงานตนเองเป็นหลัก ทำให้มีการพัฒนาแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ เป็นการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองต่อภารกิจของหน่วยงานเป็นหลัก แต่เมื่อสังคมไทยได้เผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แนวทางการแก้ปัญหาของรัฐและสังคม จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบกับการพัฒนาที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้ประเมินผลการพัฒนา โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดตัวชี้วัด จึงได้เกิดแนวคิด ระบบการวัดและประเมินผลที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดและนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองโดยชุมชนอย่างแท้จริง เรียกว่า “ระบบมาตรฐานงานชุมชน” ชุมชนเข้มแข็ง เกิดขึ้นจากชุมชน มีผู้นำที่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิฐาน มีกลุ่ม / องค์กรชุมชน ที่บริหารจัดการที่ดี มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีการเคลื่อนไหวทางการพัฒนา มีการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ และมีกระบวนการถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ มีเครือข่ายองค์กรชุมชน คือความหลากหลายขององค์กร เกิดความร่วมมือเพื่อกิจการสาธารณะ มีการประสานงานสองทางที่เท่าเทียม และมีการแลกเปลี่ยน ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกัน ดังนั้น “ระบบมาตรฐานงานชุมชน” หรือ “มชช.” จึงเป็นเครื่องมือสำหรับ ผู้นำ กลุ่ม /องค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน และ ชุมชน ใช้เพื่อทำให้รู้จักตนเอง ประเมินและพัฒนาศักยภาพตนเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนร่วมกับภาคีการพัฒนา โดยการร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา รวมกำหนดทิศทางการพัฒนา ที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเป็นระบบ
กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน มชช.
- ผู้นำชุมชน
- กลุ่ม / องค์กรชุมชน
- เครือข่ายองค์กรชุมชน
- ชุมชน
ประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายได้รับ
1. ผู้นำชุมชน รู้จักตนเอง สามารถพัฒนาตนเองอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง
2. กลุ่ม/องค์กรชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม รู้จักตนเอง สามารถพัฒนาตนเอง และ สมาชิก อย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง
3. เครือข่ายองค์กรชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ประสานการทำงานภายในเครือข่าย รู้จักตนเอง สามารถพัฒนาตนเองอย่างมีทิศทางและต่อเนื่อง
4. ชุมชน เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนอย่างมีทิศทาง มีช่องทางสะท้อนปัญหา ความต้องการ ของคนในชุมชน สามารถบริหารจัดการุมชนโดยใช้ทุนทางสังคมของชุมชนและประสานการสนับสนุนจากภาคีการพัฒนาอย่างเหมาะสม นำไปสู่ความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้
คุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย
- ผู้นำชุมชน มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชนไม่น้อยกว่า 1 ปี มีผลงานกิจกรรมร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับนับถือของคนในชุมชน มีตำแหน่งเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ
- กลุ่ม / องค์กรชุมชน มีมติของสมาชิกกลุ่ม / องค์กรชุมชน ในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
- เครือข่ายองค์กรชุมชน มีมติของสมาชิกเครือข่าย ในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
- ชุมชน มีอาณาเขตพื้นที่แน่นอน มีมติประชาคมในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
เอกสารประกอบการสมัคร
1.ผู้นำชุมชน
1.1 ใบสมัคร
1.2 รูปถ่าย 1 รูป
1.3 สำเนาทะเบียนบ้าน
1.4 สำเนาบัตรประชาชน
(หากมี) รายชื่อคณะที่ปรึกษา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำการพัฒนาตนเอง
ไปสู่มาตรฐานงานชุมชน เป็นบุคคลภายในหรือภายนอกชุมชนก็ได้
2.กลุ่ม / องค์กรชุมชน
2.1 ใบสมัคร
2.2 บันทึกการประชุมกลุ่ม/องค์กรชุมชนที่มีมติของสมาชิกในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
2.3 รายชื่อทีมนำการพัฒนา ซึ่งคัดเลือก / สรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ในกิจกรรมการพัฒนา จำนวนตามความเหมาะสม (หากมี) รายชื่อคณะที่ปรึกษา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำการพัฒนาตนเองไปสู่มาตรฐานงานชุมชน เป็นบุคคลภายในหรือภายนอกชุมชนก็ได้
3.เครือข่ายองค์กรชุมชน
3.1 ใบสมัคร
3.2 บันทึกการประชุมเครือข่ายที่มีมติของสมาชิกเครือข่าย ในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
3.3 รายชื่อทีมนำการพัฒนา ซึ่งคัดเลือก / สรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ในกิจกรรมการพัฒนา จำนวนตามความเหมาะสม (หากมี) รายชื่อคณะที่ปรึกษา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำการพัฒนาตนเองไปสู่มาตรฐานงานชุมชน เป็นบุคคลภายในหรือภายนอกชุมชนก็ได้
3.4 บันทึกประชาคมชุมชน ที่มีมติของสมาชิกชุมชน ในการสมัครเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
3.5 รายชื่อทีมนำการพัฒนา ซึ่งคัดเลือก / สรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ในกิจกรรมการพัฒนา จำนวนตามความเหมาะสม (หากมี) รายชื่อคณะที่ปรึกษา เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำการพัฒนาตนเองไปสู่มาตรฐานงานชุมชน เป็นบุคคลภายในหรือภายนอกชุมชนก็ได้
ขั้นตอนการพัฒนาตนเองสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน
- สมัครใจเข้าสู่ระบบมาตรฐานงานชุมชน (รายละเอียดการสมัครกล่าวแล้ว)
- สร้างเครื่องชี้วัดการพัฒนาตนเอง ซึ่งตัวชี้วัดนี้สะท้อนให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆที่ตนเองต้องการไปให้ถึง
- ทำแผนพัฒนาตนเอง ตามตัวชี้วัด
- พัฒนาตนเองตามแผน เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัด
- ประเมินตนเอง ตามตัวชี้วัด เป็นระยะๆ เช่น ทุก 3 เดือน หรือทุก 6 เดือน ในระยะเวลา 1 ปี
- สรุปผลการประเมินตนเอง
- เสนอผลการประเมินตนเองต่อ มชช. อำเภอ