ประวัติความเป็นมาของผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน
อาสาพัฒนาชุมชน คืออาสาสมัครจากราษฎรในท้องถิ่นที่มีจิตใจเสียสละ มีความสมัครใจอาสามาปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมในด้านการพัฒนาชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) คืออาสาพัฒนาชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากเวทีประชาคมหมู่บ้านให้ปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครในหมู่บ้านหนึ่งเรียกชื่อย่อว่า “อช.” มีจำนวนหมู่บ้านละอย่างน้อย 4 คนโดยให้มีจำนวนหญิงชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
- ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) คืออาสาพัฒนาชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจากเวทีประชาคมอาสาพัฒนาชุมชนเพื่อให้ปฏิบัติงานอาสาสมัครในฐานะผู้นำของอาสาพัฒนาชุมชนในตำบลหนึ่งเรียกชื่อย่อว่า “ผู้นำ อช.” มีจำนวน 2 คน (ชาย 1 คน หญิง 1 คน)
ประวัติความเป็นมาของอาสาพัฒนาชุมชน (อช.)
พ.ศ. 2512 ครม.มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2512 โครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน
พ.ศ. 2512 ทดลองดำเนินการในจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ รวม 100 คน
พ.ศ. 2515 ขยายการดำเนินงานโครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนา ชุมชนออกไปทุกจังหวัด (70 จังหวัดในขณะนั้น)
พ.ศ. 2519 ขยายการดำเนินงานออกไปในทุกตำบลที่เปิดเขตพัฒนา
พ.ศ. 2525 ให้คัดเลือกอาสาพัฒนาชุมชนที่เป็นสตรีเพิ่มขึ้น หมู่บ้านละ 1 คนรวมเป็น อช.หมู่บ้านละ 2 คน ครบทุกหมู่บ้าน ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมอาสาพัฒนาชุมชนและจัดตั้งสมาคมผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนไทย จดทะเบียน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 ที่ตั้งศูนย์ฝึกอบรมการพัฒนาชุมชน ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก
พ.ศ.2547 ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอาสาพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2547 เพิ่มจำนวน อช.หมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 4 คน และ ผู้นำ อช. ตำบลละ 2 คนโดยคำนึงถึงจำนวนสัดส่วนชายหญิง ใกล้เคียงกัน โดยผู้นำ อช. ได้รับค่าตอบแทนปีละ 4 งวด (รอบไตรมาส) งวดละ 500 บาท/คน จำนวน อช./ผู้นำอช. (พ.ศ.2549-2550) จำนวน อช. 276,192 คน จำนวน ผู้นำ อช. 13,550 คน จำนวน ผู้นำอช.ที่ผ่านระบบมาตรฐานงานชุมชน พ.ศ. 2547 – 2549 จำนวน 2,214 คน
สิทธิและหน้าที่ของ อช. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
1) กระตุ้นให้องค์กรประชาชน รู้สภาพปัญหาของหมู่บ้าน และสามารถวางแผนงานเพื่อแก้ปัญหาได้เองรวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักช่วยตนเอง และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา หมู่บ้านของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) ริเริ่มและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา โดยเป็นที่ปรึกษากลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรีกลุ่มอาสาสมัครตลอดจนองค์กรประชาชน และกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ
3) ช่วยเหลือสนับสนุน การดำเนินงานตามแผนงาน โครงการหรือกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน
4) เป็นผู้ประสานระหว่างองค์กรประชาชนกับหน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชนหรือเอกชนอื่นๆ
5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ตามที่เวทีประชาคมคณะกรรมการหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลหรือทางราชการมอบหมาย
สิทธิและหน้าที่ของ ผู้นำ อช.ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย
1) มีหน้าที่เช่นเดียวกันกับ อช. (ตามข้อ 1-5)
2) เป็นผู้ประสานงานระหว่าง อช.ในตำบล และ
3) เป็นผู้แทนของ อช.ในกิจกรรมต่างๆที่ได้รับมอบหมาย
ภารกิจของผู้นำ อช.
- การจัดเก็บข้อมูล จปฐ/กชช.2ค ร่วมเป็นผู้จัดเก็บข้อมูล จปฐ. / กชช. 2ค รวมทั้งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดเป็นแผนงาน/กิจกรรม บรรจุในแผนชุมชนประเมินผลเปรียบเทียบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและภาพรวมของหมู่บ้านในแต่ละปี
- การจัดทำแผนชุมชน ร่วมมือกับผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน จัดเวทีประชาคมวิเคราะห์ ข้อมูล ปัญหาและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชน
- การจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชน ร่วมจัดเวทีประชาคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่างๆให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
- การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงร่วมดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชุมชน โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง
- การส่งเสริมวิถีประชาธิปไตยเป็นแบบอย่างที่ดีในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้งและร่วมกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยในหมู่บ้าน/ตำบล
- การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแนะนำให้ความรู้แก้เพื่อนบ้านเพื่อให้เข้าใจถึงโทษและภัยของยาเสพติดรวมทั้งร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ตำบล
- การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นแกนหลักในการวางแผนและจัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน/ตำบล
- การพัฒนาเด็ก/เยาวชน และอื่นๆ